2552/08/20

ประเพณีเลี้ยงขันโตกบายศรีสู่ขวัญ


ประเพณีเลี้ยงขันโตกบายศรีสู่ขวัญ
กาญจน์มุนี ศรีวิศาลภพ(ร้อยตะวัน) : เขียน


...ยินดียิ่งแล้ว แขกแก้วมาเยือน…
เป็นศรีบ้านเฮื๋อน เปิ้นแล้ว...


ประเพณีเลี้ยงขันโตกหรือขันโตกดินเนอร์ เป็นอีกหนึ่งศิลปะในการรับประทาน ที่ประมวลทั้งภาชนะ อาหาร การแสดงที่เป็นพื้นเมืองมาไว้ในงานเดียวกัน สะท้อนถึงความเป็นวัฒนธรรมของภาคเหนือ ที่มีการบูรณาการได้อย่างงดงาม

ประเพณีเลี้ยงขันโตก เพิ่งจะมีขึ้นมีราวปี 2500 เป็นต้นมา โดย นายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ นายธนาคารและนักธุรกิจของภาคเหนือ ผู้ซึ่งสนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องโบราณคดีของล้านนาไทยได้รวบรวมเอาประเพณีที่ชาวเหนือประพฤติปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เช่น ประเพณีที่รับประทานอาหารโดยใช้ขันโตกเป็นภาชนะ ใช้กล่องข้าวใส่ข้าวรับประทานแบบชาวบ้านในภาคเหนือ มาบูรณาการเข้ากับศิลปะการแสดงและวงมโหรีของภาคเหนือเข้าไว้ด้วยกัน โดยได้นำมาใช้ในพิธีการต้อนรับชาวต่างชาติที่มาเป็นแขกร่วมที่มาประชุมเรื่องธนาคาร ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศจะได้ร่วมรับประทานอาหารแบบไทยเหนือ ซึ่งสำหรับกับข้าวจัดเลี้ยงจะประกอบด้วยของไทยภาคเหนือ ใส่ขันโตกและกล่องข้าวเหนียวไว้รับประทานกัน ในระหว่างที่รับประทานอาหารจะมีประเพณีการแสดง การละเล่นตามแบบฉบับศิลปะวัฒนธรรมไทยล้านนาไทยต่าง ๆประกอบด้วย ในการจัดเลี้ยงครั้งนั้นเป็นที่กล่าวขวัญและพึงพอใจแก่แขกผู้มาร่วมงานกันมากเป็นพิเศษ เป็นเหตุให้อาจารย์ไกรศรีได้จัดงานเลี้ยงในรูปแบบเช่นนี้อีกหลายครั้ง และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ประเพณีขันโตกหรือขันโตกดินเนอร์ที่ชาวต่างชาติเรียกกัน ก็กลายเป็นที่นิยมทำกันทั้งส่วนเอกชนและทางราชการ....



สถานที่สำหรับทำพิธีกรรมแห่ขันโตกบายศรีสู่ขวัญ

การจัดสถานที่ในประเพณีขันโตก ต้องหาลานกว้างเพียงพอแก่จำนวนแขก โดยมากจะเป็นสนามหญ้าในบ้านหรือสำนักงาน ถ้าจัดงานใหญ่จริงๆ ก็ต้องหาสนามขนาดใหญ่ เพราะนอกจากเป็นที่นั่งรับประทานแล้วยังต้องมีที่เล่นมหรสพด้วย สถานที่จึงเป็นสิ่งสำคัญในการจัดประเพณีขันโตก

จากนั้นก็จะมีการขัดราชวัตร คือรั้วพิธี โดยมากทำคล้ายๆรั้วพิธีตามวัด เวลามีงานสมโภชหรืองานเทศกาล เช่น เดือนยี่เป็ง การฟังเทศน์มหาชาติ เป็นต้น ราชวัตรนั้นก็คือ รั้วกั้นพิธีทำด้วยไม้ไผ่จักเป็นตอกแล้วสานตามคร่าวที่ติดกับเสากั้นเขตนั้น ทำทางเข้าไว้ 4แห่ง หรือ 2 แห่ง แล้วแต่การทำของผู้เตรียมงาน แล้วเอาก้านมะพร้าวมาทำโค้งให้เป็นเหมือนประตูป่า เป็นทางเข้าไป ส่วนต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นกุ๊ก(พืชตระกูลข่า) นำมาปักไว้รอบๆราชวัตรหรือรั้วพิธีนั้น ถือเสมือนว่าสถานที่นั้นเป็นเขาวงกตที่พระเวสสันดรพำนักอยู่ เป็นที่สำราญพระทัย และถือว่าแขกที่เข้าไปสู่พิธีนั้นมีเกียรติยศประดุจเจ้าบ้านผ่านเมือง

นอกจากนี้ ยังมีด้ายสายสิญจน์ ใช้วงรอบราชวัตรในกรณีที่การเลี้ยงขันโตกมีพิธีบายศรีสู่ขวัญด้วย ถ้ามีจะเอาเงื่อนด้ายด้านหนึ่งไปผูกติดพระพุทธรูป วนรอบฐานพระพุทธรูป 3 รอบ จากนั้นก็นำมาเวียนรอบราชวัตร แล้วเอาด้านปลายลงสู่พานบายศรี ส่วนรอบๆราชวัตรจะมีแสงสว่างที่ทำจากประทีปโคมไฟโดยใช้เทียนสีผึ้งหรือเทียนไข หรือวางถ้วยประทีปใส่น้ำมันมะพร้าว แล้วฟั่นด้ายเป็นตีนกาสำหรับเป็นไส้ประทีป บางแห่งใช้น้ำมันก๊าดใส่ในกระบอกไม้ไผ่ แล้วทำไส้ขึ้นมาจุด ใช้แทนตะเกียงโดยปักรอบๆราชวัตรที่ใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยง ส่วนด้านในสนาม สถานที่จัดเลี้ยงจะมีการปูเสื่อจนเต็ม เพื่อให้แขกมานั่งชมการละเล่นและนั่งรับประทานอาหารแล้วก็จะมีการตั้งคนโท (น้ำต้น) กระโถน พานมูลีขี้โย และเมี่ยงไว้เป็นชุด ๆ

เครื่องอาหารที่ประกอบในขันโตก

...จักบอกนายแพง เจ้าแป้งกลิ่นกู๊
เจ้าแต่งต้อนหลายอัน
มีพร่ำพร้อม โต๊ะโตกกัวะขัน
ของจื๋นจ่าวมัน หอมหวนใส่ต้วย...


อาหารที่ใส่ไว้ในโตกหรือขันโตก มักจะประกอบด้วยอาหารพื้นเมืองของภาคเหนือ พร้อมทั้ง บุหรี่พื้นเมือง เมี่ยง เป็นต้น

มูลีขี้โย คือ บุหรี่ที่นิยมสูบกันในภาคเหนือ โดยมากชาวไทยใหญ่นิยมสูบมากเป็นพิเศษตลอดจน พ่ออุ้ย แม่อุ้ย ก็นิยมสูบเหมือนกัน โดยจะเอายอดตองกล้วยไปทาบกับไฟร้อนแล้วเอามามวนกับยาสูบกับยาสูบพื้นเมืองใส่ขี้โยด้วย ขี้โยทำจากไม้ข่อย เอากิ่งข่อยมาหั่นให้ละเอียดเอามาโรยบุหรี่แล้วมวนพร้อมกัน เวลาจุดไฟสูบ ขี้โยจะช่วยลดความฉุนของยาลง และมีความหอมหวนอร่อย นอกจากนี้การยังมีการวางจานเมี่ยงเพื่อใช้อมหลังอาหาร

เมี่ยง เป็นไม้ยืนต้นขึ้นในป่าภาคเหนือของไทยจนถึงแถบยูนนาน ชาวจีนเก็บเอายอดมาตากแห้งและคั่วให้เป็นชา ชาวล้านนาไทยเก็บใบอ่อนมานึ่งแล้วหมักไว้เป็นเวลานานให้มีรสเปรี้ยวอมฝาด สำหรับอมรักษาท้องและช่วยย่อยอาหารด้วย คนล้านนาไทยเป็นส่วนมากตามอำเภอรอบนอกของทุกจังหวัดยังนิยมอมเมี่ยงกันอยู่ ถือว่าเป็นเครื่องต้อนรับแขกได้อย่างหนึ่ง

อาหาร ในขันโตกนั้นประกอบด้วย ข้าวเหนียวนึ่งใส่กล่องข้าว แกงอ่อม แกงฮังเล ไส้อั่ว แคบหมู น้ำพริกอ่อง จิ้นลาบ พร้อมผักต่างๆ ส่วนของหวาน ขนมที่ใช้ส่วนมากเป็นขนมจ๊อกหรือขนมเทียน บางแห่งนิยมขนมปาด หรือพวกขนมศิลาอ่อนของภาคกลางใส่ไว้ในถ้วย แซมไปกับอาหารในขันโตก บางแห่งใส่ข้าวพอง ซึ่งทางเหนือเรียกว่าข้าวควบ และข้าวแตน ภาคกลางเรียกว่า นางเล็ด ขนมเหล่านี้จะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ โดยอาหารเหล่านี้จะตักใส่ถ้วยเล็กๆวางไว้ในขันโตก แล้วใช้ฝาชีครอบ เพื่อรอทำพิธีแห่ขันโตกต่อไป

ขันโตกและภาชนะใส่อาหารของล้านนาไทย

ชาวไทยล้านนาใช้ภาชนะใส่อาหารหลายชนิด อันได้แก่ ขันโตก กัวะข้าว ไถลข้าว กล่องข้าวถ้วยแกง จ๊อน เป็นต้น ภาชนะเหล่านี้ส่วนมากทำด้วยไม้สัก และกะลามะพร้าวเป็นพื้น ขันโตก หรือโตก เป็นภาษาดั้งเดิม ที่ใช้เรียกภาชนนะที่ทำด้วยไม้ซึ่งมีมาช้านานแล้ว ขันโตกโดยมากทำจากไม้สัก นำมากลึงโดยเครื่องกลึง คนล้านนาไทยเรียกว่าเคี่ยนไม้ จึงมีหมู่บ้านช่างกลึงว่าบ้านช่างเคี่ยน วัดช่างเคี่ยนเป็นต้น พวกช่างจะนำเอาไม้สักท่อนใหญ่ๆมาตัดให้พอเหมาะและนำมากลึงกับเครื่องกลึงหรือเครื่องเคี่ยน เมื่อกลึงหรือเคี่ยนได้รูปแล้วก็จะทำเชิงหรือตีนเชิงเข้ารับเป็นฐานแล้วลงรักหรือทาหาง ซึ่งภาคกลางเรียกว่าลงชาด เมื่อแห้งแล้ว ก็นำมาใส่อาหารได้ การเรียกขันโตกมักเรียกไม่เหมือนกันตามภาษาท้องถิ่น เช่น ขันโตก โตก สะโตก ซึ่งก็เป็นภาชนะที่ใช้สำหรับใส่อาหารเหมือนกัน ขันโตกมี 3 ขนาด คือ ขันโตกหลวง(สะโตกหลวง) ขันโตกฮาม(สะโตกทะราม ) และขันโตกหน้อย(สะโตกหน้อย)




การแสดง

ส่วนการแสดงในการแห่ขันโตก ประกอบด้วย การฟ้อนเล็บ หรือฟ้อนเทียนโดยมีเครื่องดนตรีประโคมแห่นำขบวน ตลอดจนมีการฟ้อนดาบ ฟ้องเจิงหรือฟ้อนสาวไหม แสดงระหว่างการรับประทานอาหาร



พิธีกรรมแห่ขันโตกบายศรีสู่ขวัญ

โดยพิธีการในการต้อนรับแขก จะเริ่มด้วยมองพวงมาลัยดอกมะลิ หรือดอกบานไม่รู้โรยคล้องคอแขกทุกคนแล้วเชิญเข้าสู่บริเวณที่เลี้ยงขันโตกในราชวัตรเพื่อคอยชมขบวนแห่ขันโตก โดยรูปแบบการจัดขบวนประกอบด้วย พานบายศรี ช่างฟ้อนนำหน้า ดนตรีกลองตึ่งโนง ขันโตกเอก ขันโตกโท หรือรอง กล่องข้าวใหญ่ ขันโตกบริวาร กล่องข้าวเล็กและอาหารหวาน


ลิ้งฟังคำบรรยายค่ะ : http://www.fm100cmu.com/files/g83-3837.WMA

2552/08/18

ตุง : สัญลักษณ์แห่งศิริมงคล



ตุง : สัญลักษณ์แห่งศิริมงคล

ตุง คือ ธงแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา พบเห็นได้ในภาคเหนือของประเทศไทย ทำด้วย ผ้า ไม้ โลหะ ด้าย หรือกระดาษ เป็นรูปแถบยาว ห้อยลง ใช้ประดับ หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับพิธีกรรมที่ใช้ตุง

'ตุง' สัญลักษณ์แห่งล้านนา

"ตุง" ของล้านนา ก็คือ "ธง" ของไทยภาคกลางนั่นเอง มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุส่วนปลายแขวนติดกับเสาห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา วัสดุที่ใช้ทำ ตุงนั้นมีหลายอย่าง เช่น ไม้ สังกะสี ผ้า กระดาษ ใบลาน เป็นต้น ตุงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา โดยมีขนาด รูปร่าง และ รายละเอียดด้านวัสดุตกแต่งแตกต่างกันไปตามความเชื่อและพิธีกรรมตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย

ส่วนจุดประสงค์ของการทำตุงล้านนาก็คือ ทำถวายเป็นพุทธบูชาโดยทั้งชาวไทยยวน ไทลื้อ ไทเขิน และไทใหญ่ จะถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายเพื่อเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนไปในชาติหน้า ด้วยความเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว จะได้เกาะยึดชายตุงขึ้นสวรรค์

ความงามของตุงจะวัดกันที่ลวดลาย และ สีสรรที่แต่งแต้มประดิษฐ์ลงไปที่ผืนตุง โดยจำแนกตามวัสดุที่ใช้ทำตุงดังนี้

ตุงผ้าทอ โดยทั่วไปมีขนาดกว้าง 15-50 ซม. ยาว 1-6 เมตร โครงสร้างประกอบด้วย ส่วนหัว-ตัว-หาง นิยมทอด้วยฝ้ายสีขาว มีลวดลายขิตสีดำและแดงเป็นเส้นพุ่ง อาจสอดสีอื่น ๆ เพื่อความสวยงาม

ตุงใย ใช้เส้นฝ้ายสีขาวมัดหรือถกคล้ายแมงมุมชักใย มีไม้ไผ่สอดเป็นโครงยึดเป็นช่วงๆ ทำด้วยวัสดุต่าง ๆ เป็นดอกไม้ หรือพู่ห้อย

ตุงกระดาษ เช่น ตุงไส้หมู ไส้ช้าง ตุงพญายอ โดยการนำกระดาษแก้วสีต่าง ๆ อย่างน้อยแผ่นละสีมารวมกัน พับไปมาแล้วตัดสลับไม่ให้ขาดจากกันเมื่อคลี่ออก และจับหงายขึ้นจะเป็นช่อพวงยาว ผูกติดกับไม้ยาวประมาณ 1 เมตร ปักตกแต่งหรือใช้ร่วมขบวนแห่ครัวทานเข้าวัดหรือปักเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์




ตุง กับงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานปีใหม่ หรือประเพณีสงกรานต์ของชาวล้านนา ประชาชนจะทำเครื่องสักการะ คือ ธูป น้ำส้มป่อย ตุง และ ช่อตุงหรือธุง อันเป็นเครื่องสักการะ มี 4 ประเภท คือ

1. ตุงเดี่ยว หรือตุงค่าคิง สำหรับบูชาแทนตนเอง
2. ตุงไส้หมู บูชาพระเจดีย์ พระธาตุทั้งหลาย
3. ตุงไจยหรือธุงไชย ถวายบูชาพระพุทธรูป เพื่อสร้างความสวัสดีมีชัย
4. ช่อหรือธงชัย สำหรับปักเครื่องบูชาต่าง ๆ

ตุงจัดเป็นเครี่องสักการะของล้านนาไทย มีตุงหลายชนิดที่ใช้ในพิธีกรรม เช่น งานฉลอง หรืองานปอย งานสืบชาตา หรือขบวนแห่ต่าง ๆ เป็นต้น แม้จนกระทั่งปัจจุบัน ตุงก็ยังมีหน้าที่สำคัญผูกพันกับความศรัทธาของชาวล้านนา นอกจากนั้นก็ยังมีหน้าที่ใหม่เพิ่มเข้ามาได้แก่ การแห่แหนหรือการประดับประดาเพื่อเฉลิมฉลองงานการท่องเที่ยว ตลอดจนมีการพัฒนารูปแบบที่ยิ่งใหญ่อลังการมากขึ้นไปอีก ดังเช่น การแห่ตุงพันวาในขบวนแห่สลุงหลวงที่ จ.ลำปาง และในขบวนแห่ต่างๆ ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย เป็นต้น

ประเภทของตุง

ตุงช่อ ทำด้วยกระดาษสี ใช้ปักตกแต่ง
ตุงร้อยแปด ทำด้วยกระดาษสี ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์
ตุงค่าคิง ทำด้วยกระดาษว่าวสีขาว ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์และงานสงกรานต์
ตุงไส้หมู ทำด้วยกระดาษสี ใช้ในงานสงกรานต์ และพิธีทางศาสนา
ตุงใย ทำด้วยเส้นด้ายหรือไหม ใช้แขวนหน้าพระพุทธรูป
ตุงไชย ทำด้วยผ้าสี ยกเว้นสีดำ มีลักษณะยาว ใช้ในการฉลองวัด
ตุงสามหาง ทำด้วยผ้าขาวหรือแพรใช้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย
ตุงกระด้าง ทำด้วยไม้หรือโลหะ ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรม
-ตุง-หลายท่านอาจเข้าใจว่า,ตุง,เป็นธง แต่อันที่จริงแล้วตุงไม่ใช่ธง ตุงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเชื่อต่างๆ เช่น ตุงที่มีการแบ่งเป็น 7 ช่องซึ่งหมายถึง สวรรค์ทั้ง 7 ชั้น เป็นต้น


ความเชื่อและอานิสงส์การตานตุง (ถวายตุง)

เรื่องการตานตุงหรืออานิสงส์การถวายตุงนี้ ปรากฏในหนังสือสังขยาโลก ตัวอักษรพื้นเมืองในคัมภีร์ใบลานมีว่า... มีภิกษุรูปหนึ่งท่านได้ไปเห็นไม้ตายแห้งท่อน หนึ่งมีลักษณะยาวงามดีมาก ท่านก็นึกที่จะเอาต้นไม้ไปทำ เป็นเสาตุงบูชาไว้ในวัดที่ท่านจำ พรรษาอยู่ แต่บังเอิญท่านมีอันเป็นลมปัจจุบันถึงแก่มรณกรรมลงในทันทีก่อนที่วิญญาณของท่านจะล่องลอยออกจากร่าง ท่านมีจิตประหวัดถึงแต่ไม้ท่อนนั้นจึงทำ ให้ต้องไปปฏิสนธิเป็นตุ๊กแก อาศัยอยู่ที่ไม้ท่อนนั้นได้รับทุขเวทนาเป็นเวลานาน ท่านจึงดลใจให้ชาวบ้านทราบว่า เวลานี้ท่านได้มาเกิดเป็นตุ๊กแกอาศัยอยู่ที่ไม้ต้นนั้น หากพอ
พวกชาวบ้านศรัทธาอยากจะให้ท่านพ้นจากกองทุกข์ ก็ขอให้สร้างตุงเหล็ก ตุงทองถวายทานไว้ในพระศาสนา จึงจะช่วยบันดาลให้ท่านหลุดพ้นจากกองทุกข์นี้ได้ เมื่อชาวบ้านทราบเช่นนั้น ก็สร้างตุงเหล็กตุงทอง ถวายไว้ในพระศาสนา พระภิกษุรูปนั้นจึงพ้นจากกองทุกข์ไปเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏศักราช มีความดังนี้ สิงห์คุตต์อำ มาตย์เอาตุงไปบูชาพระประธานองค์ใหญ่และพระเจดีย์คีรี ครั้นสิ้นอายุจะไปตกนรก พระยายมราชก็แสดงตุงนั้นให้เห็นแล้วกล่าวว่า “เมื่อท่านทำ บุญวันนั้น ท่านยังกรวดนํ้าแผ่กุศลถึงเราและบัดนี้ท่านจงขึ้นไปบนสวรรค์เทอญ”

และอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ยังมีนายพรานผู้หนึ่งล่าเนื้อมาตั้งแต่อายุได้ ๑๕ ปีจนถึงอายุ ได้ ๔๘ ปี วันหนึ่งเข้าป่าไปเพื่อจะล่าเนื้อ บังเอิญไปถึงวัดศรีโคมคำ ได้เห็นพระปฏิมากร องค์ใหญ่ และมีการประดับตุงเป็นพุทธบูชา เมื่อยามลมพัดต้องเกิดความสวยงามก็มีใจ พึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกลับมาถึงบ้านก็จัดแจงหาผ้ามาทำ ตุง แล้วเอาไปบูชาพระประธานองค์ใหญ่นั้น ครั้นนายพรานผู้นี้ตายไป พระยายมราชมิทันได้พิจารณาก็เอาโยนลงนรก ในทันใดนั้น ตุงที่นายพรานเคยทำเพื่อถวายพระประธานองค์ใหญ่นั้นก็พันเอาตัวนายพรานพ้นจากนรกเสีย พระยายมจึงพิจารณาดูแล้วก็บอกนายพรานขึ้นไปบนสวรรค์

จุดมุ่งหมายในการสร้างตุง

- ถวายเป็นพุทธบูชา สร้างบุญกุศลให้ตนเองและผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้พ้นจากเวรกรรมและได้ขึ้นสวรรค์
- ประดับประดาศาสนสถาน ศาสนวัตถุ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง
- เพื่อสะเดาะเคราะห์ ขจัดภัยพิบัติต่าง ๆ ให้หมดไป โดยเฉพาะภัยที่เชื่อว่า เกิดจากภูติผีปีศาจ หรือบาปกรรมทั้งหลาย
- ใช้ในทางไสยศาสตร์ ทำ เสน่ห์ บูชาผีสางเทวดา
- ใช้ในพิธีกรรมและเทศกาลต่าง ๆ เช่น พิธีสวดพุทธมนต์ พิธีสืบชะตา การขึ้นท้าวทั้งสี่ การตั้งธรรมหลวง งานปอยหลวง ทอดกฐิน ประเพณีสงกรานต์ประเพณีเกี่ยวกับคนตาย

อานิสงส์ของการสร้างตุง

จากหลักฐาน ตำ นาน ลิลิต และพงศาวดารต่าง ๆ ได้เขียนถึงอานิสงส์ของการสร้างตุงว่าผู้ที่สร้างตุงถวายเป็นพุทธบูชาจะไม่ตกนรก ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถ้ากลับมาเกิดในโลกมนุษย์ก็จะเป็นใหญ่เป็นโต ถ้าสร้างอุทิศให้ผู้ตาย ผู้ตายก็จะพ้นจากการไปเป็นเปรตหลุดพ้นจากบาปกรรมที่ทำ ไว้ จากอานิสงส์ดังกล่าวนี้ทำ ให้ชาวล้านนานิยมสร้างตุงกันทุกชั้นวรรณะ ซึ่งรูปแบบของตุงจะมีความแตกต่างกันขั้นอยู่กับฐานะทางสังคมของเจ้าของพิธี พื้นฐานความเชื่อ ของคนในสังคม วัสดุและความสามารถของชาวท้องถิ่น ในการที่จะนำ เอาวัสดุที่มีมาประดับตุง โดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ

สืบสานวัฒนธรรมการใช้ตุง

ปัจจุบันชาวล้านนาส่วนใหญ่ยังนิยมสร้างตุง เพื่อใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณีเกี่ยวกับการตาย งานเทศกาลและเฉลิมฉลองต่าง ๆ ตามคติความเชื่อเดิม แต่แนวโน้มการใช้ตุงเริ่มเปลี่ยนไปเนื่องจากบรรดาหน่วยงานทั้งภาคราชการและเอกชนมักนิยมใช้ตุงประดับตามสถานที่จัดงานต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม ซึ่งเรื่องนี้ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า งานบางงานสามารถใช้ตุงปักได แต่ควรใช้ตุงให้ถูกประเภท บางงานนำ ตุงไปใช้อย่างไม่เหมาะสม เป็นการทำ ลายคติความเชื่อดั่งเดิมของชาวล้านนา เช่น การนำ ตุงไปประดับประดาบนเวทีประกวดนางงาม เป็นต้น หากไม่มีการอนุรักษ์และศึกษารูปแบบคติความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ตุงให้เข้าใจถ่องแท้ก่อนนำ ไปใช้แล้ว อนาคตการใช้ตุงในพิธีการต่าง ๆ ตามคติความเชื่อเดิมคงจะถูกดัดแปลงให้เพี้ยนไปในที่สุด


ขอขอบคุณ “ตุงล้านนา”
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ
อดิสร/วรวรรณ/พิมพ์
รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์/ตรวจทาน
๒๗/๓/๒๕๔๕.

พิณเปี๊ยะเครื่องดนตรีแห่งสรวงสวรรค์...ที่กำลังจะสูญหาย...

อุ้ยบุญมา ไชยมะโน (2465-2548) ครูเพลงเปี๊ยะ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
พ่อครู พิณเปี๊ยะ คนสุดท้าย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว


พิณเปี๊ยะเครื่องดนตรีแห่งสรวงสวรรค์ของลานนา

กล่าวกันว่า "พิณเปี๊ยะ" หรือ "เปี๊ยะ" เป็นเครื่องดีดตระกูลพิณที่ไพเราะ เสียงเบา และ เล่นยากที่สุดอย่างหนึ่งในบรรดาเครื่องดนตรีทั้งหมดทั้งมวล ช่างดนตรีทางเหนือพูดเปรียบเปรยให้เข้าใจได้ง่ายว่า "หัดเปี๊ยะ 3 ปี หัดปี่ 3 เดือน" ก็เพราะการจะบรรเลงให้ได้ดีนั้น ต้อง ใช้เทคนิคและความชำนาญเป็นอย่างมากผู้หัดจำต้องมีพื้นฐานทางดนตรีที่ดีมาก่อน

เสรี ชุ่มไชยา หนึ่งในกลุ่มผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรมการเล่นเครื่องดนตรีพิณเปี๊ยะ

การดีดต้องดีดด้วยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า "ป๊อก" เพื่อให้เกิดเสียง คม ใส ดังก้องกังวาลนานกว่าเสียงธรรมดา ไม่เพียงมีวิธีดีดที่พิเศษ เปี๊ยะยังมีโครงสร้างของระบบเสียงที่พิเศษอีกด้วยคือ เสียงที่เกิดจากการ "ป๊อก" จะส่งผ่านตามสายไปยังหัวเปี๊ยะ แล้วไหลผ่าน ตามสายมายังกล่องเสียงซึ่งทำจากกะลามะพร้าวผ่าครึ่งที่แนบอยู่กับหน้าอกผู้เล่น คลื่นเสียงจะผ่านอากาศในช่องของกล่องเสียง ไปสะท้อนกับแผ่นอกผู้เล่น แล้วสะท้อนออกมาทางช่องว่างระหว่างกะลากับหน้าอก ผู้เล่นต้องปรับขนาดช่องว่างนี้ด้วยมือซ้ายเพียง มือเดียว เพื่อให้ได้น้ำเสียงที่นุ่มนวลและทุ้มแหลม หนัก-เบา หรือโทนเสียงต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง


เล่าขานตำนานพิณเปี๊ยะ

จากคำบอกเล่าของ อุ้ยบุญมา ไชยมะโน (2465-2548) ครูเพลงเปี๊ยะ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง พ่อครู พิณเปี๊ยะ คนสุดท้าย ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว "ในสมัยก่อน ในส่วนของพิณ ถ้าอู้เข้าเข้าไปลึกๆ ก็คือเฮาจะได้ฮีตได้ฮอย มาจากของตางอินเดีย ก็คือมันจะเป็นพิณน้ำเต้า แล้วมันก็จะพัฒนามาเป็นสองสายหรือเฮาจะฮ้องว่าพิณเปี๊ยะ เพราะกับกำว่าพิณมันก็คือการจั้กสาย แล้วก็เป็นเครื่องสาย หรือว่าเครื่องดีด ละก้อเปี๊ยะก็คือการอวดเนี้ยะ เพราะฉะนั้นในส่วนการได้ฮีตได้ฮอยจากอินเดียมา เฮาก็จะหันได้ว่ามันคงจะมีการพัฒนามาเรื่อยๆ แล้วก็คนในสมัยตะก่อน เปิ้นก็ว่ากันว่าจะใจ้ในส่วนของพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็ถ้าเฮากึ้ดย้อนนึกไปสมัยตะก่อน ในการตี้หัวของพิณเปี๊ยะทำด้วยสำริด มันก็จะต้องเป็นคนตี้ เป็นผู้ที่มีอำนาจ หรือว่าเป็นคนตี้อยู่ในศาสนาหรือคนจั้นสูง ถ้าจะมีหัวตี้เป็นสำริด แล้วก็สร้างขึ้นมาได้ แล้วแถมอย่างหนึ่งเปิ้นก็บอกว่า อาจจะเล่นในพระราชวังต่างๆ แล้วอยู่ต่อมา สืบทอดต่อๆ กันมาเรื่อยๆ อาจจะตกอยู่ใน สังคมของชนชั้นเจ้า แล้วก็ลงมาเรื่อยๆ ถอยมาเรื่อยๆ อาจจะเป็นสังคมที่สืบทอดจากเจ้ามาสู่คนธรรมดา ละก็มีว่ากันว่า เปิ้นก็ได้เอาพิณเปี๊ยะเนี้ยะ ไปเล่นแอ่วสาวเหมือนกัน เพราะว่าพ่ออุ้ยแปง นวลจา เปิ้นก็ได้เกยอู้ไว้ว่าพิณเปี๊ยะในสมัยตะก่อนเปิ้นก็เกยหัดเล่น เปิ้นก็เอาไปเล่นแอ่วสาวตามบ้านตามจองต่างๆ ละก้อ ช่วงจากป้ออุ้ยแปง นวลจา รู้สึกว่ามันก็จะหายไป แล้วก็มีการฟื้นกันขึ้นมาใหม่"...

ชาวล้านนาสมัยก่อนเรียกพิณเปี๊ยะ (เอกสารโบราญสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกพเยีย บางเล่มเรียก เพลี้ย, เพียะ) สั้นๆว่า “ เปี๊ยะ ” ในภาษาเหนือแปลว่า อวด หรือ เทียบเชิง คนที่เล่นเปี๊ยะได้จะดูโก้เก๋มากกว่าคนที่เล่นดนตรีพื้นๆ อย่างสะล้อ ซอ ซึง เวลาเล่นแต่ละครั้งจึงเหมือนเล่นอวดกัน เป็นการเล่นประชันขันแข่ง จึงทำให้สันนิษฐานกันว่า ชื่อ “ พิณเปี๊ยะ ” หรือ “ เปี๊ยะ ” อาจจะมีที่มาด้วยเหตุนี้ก็ได้ ส่วนใครเป็นคนคิดประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรก ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันแน่ชัด ได้แต่สันนิษฐานกันว่าพิณเปี๊ยะพัฒนามาจากพิณน้ำเต้าที่พวกพราหมณ์ เป็นผู้ทำขึ้นเล่นก่อน เพื่อประกอบการสวดโองการอ่านภควัตคีตา ต่อมาพราหมณ์ได้เผยแพร่เข้าสู่สุวรรณภูมิเมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้ว ดนตรีชนิดนี้จึงติดตามเข้ามาด้วยไม่ว่าจะเป็นที่รัฐฉานของประเทศพม่า ประเทศเขมร ภาคเหนือตอนบนของไทย แม้กระทั่งในกรุงศรีอยุธยาเองก็มีหลักฐานยืนยันว่ามีการเล่นพิณเปี๊ยะมาก่อน ช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่ปรากฏว่ามีการเล่นพิณเปี๊ยะในแถบภาคกลางและภาคอีสานอีกเลย แต่ยังคงเล่นอย่างแพร่หลายในภาคเหนือมาจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ระบบเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากภายนอกไหลบ่าเข้ามาแทนที่ วิถีชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรมในชนบทเริ่มเปลี่ยนแปลงไป พิณเปี๊ยะเริ่มหายไปเพราะไม่ค่อยมีใครหัดหรือทำขึ้นมาเล่นอีก



ลักษณะของพิณเปี๊ยะ

พิณเพียะลักษณะคล้ายพิณน้ำเต้าแต่พิณเพียะทำเพิ่มขึ้นเป็น ๒ สาย และ ๔ สายก็มี คันทวนยาวประมาณ ๑ เมตรเศษ ลูกบิดก็ยาวประมาณ ๑๘ ซม. ใช้เชือกคล้องสายผูกโยงไว้กับทวนสำหรับเร่งเสียงเหมือนกับพิณน้ำเต้า กะโหลกก็ทำด้วยเปลือกลูกน้ำเต้าตัดครึ่งลูกก็มี ทำด้วยกะลามะพร้าวก็มีเวลาดีดก็เอากะโหลกประกบติดไว้กับหน้าอกขยับเปิดปิดเพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการเช่นเดียวกับดีดพิณน้ำเต้า ตามที่ปรากฏในท้องถิ่นภาคเหนือผู้เล่นมักจะดีดคลอขับร้องของตนเองและนิยมเล่นในขณะที่ไปเที่ยวเกี้ยวสาวตามหมู่บ้านในเวลาค่ำคืน เดี๋ยวนี้หาผู้ที่เล่นได้ยากแล้วแต่ยังพอมีพี่น้องชาวไทยทางภาคเหนือของประเทศไทยเล่นได้บ้าง ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีเครื่องสายชนิดหนึ่งบอกไว้ว่า พิณเพียะ แต่ใช้ไม้จริงชนิดเบาทำเป็นกะโหลก ยาวตั้งแต่กะโหลกจนตลอดคันทวนประมาณ ๑.๒๒ เมตร แกะสลักฝังงาลงไปในเนื้อไม้เป็นลวดลายแพรวพราว ตัวกะโหลกกว้างประมาณ ๒๘ ซม. คันทวนแบนใหญ่กว้างประมาณ ๔๘ ซม. มีสายถึง ๕ สาย


พิณเปี๊ยะเครื่องดนตรีแห่งสรวงสวรรค์...ที่กำลังจะสูญหาย...

เรื่องราวของเครื่องดนตรีล้านนาที่เรียกว่า "พิณเปี๊ยะ" ที่กำลังจะสูญหาย เนื่องจากขาดผู้ที่จะรับสืบทอดหรือเผยแพร่ ทำให้ คุณคำหล้า หรือ “ธัญยพร อุตธรรมชัย” ศิลปินรุ่นใหม่แห่งลานนา เริ่มรณรงค์ผู้ต่อสู้เพื่อที่จะเผยแพร่ ศิลปะวัฒนธรรมล้านนา และเธอได้แต่งเพลงชื่อ เพลง “เพลงพิณเปี๊ยะ” ขับร้องท่วงทำนองด้วยภาษาคำเมืองของภาคเหนือ ประกอบดนตรีบรรเลงด้วย พิณเปี๊ยะ จนกระทั่งได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองคำพระราชทาน : สาขา เพลงไทยพื้นบ้านภาคเหนือยอดเยี่ยม (21 มิ.ย. พ.ศ. 2548)

-----------------------------

เพลง “เพลงพิณเปี๊ยะ”
คำร้อง - ทำนอง - ขับร้อง : คำหล้า ธัญยพร



งาม….หนอไหนมาเปรียบปาน
สาย…ลมพริ้วพัดผ่าน
กาสะลองดอกน้อยกลีบบาน
หอมนวลภมวลซาบซ่านดังวิมานเพลงพิณ

ใจ …..ข้าเจ้าถวิล
โบก….โบยบิน.. คิดถึง
บอกเมฆขาว ลมหนาวตราตรึง
เสียงพิณปานสังข์ซาบซึ้ง เฝ้ารำพึงถึงเธอ

****เพลงพิณนี้ดั่งมนต์สวรรค์
มานพหนุ่มน้อยคนธรรพ์แดนสวรรค์ฉิมพลี
ฮ่วมกันบรรเลง เพลงพิณเปี๊ยะตามสายนที
ล่องลอยเหนือห้วงวารีกล่อมโลกนี้ชื่นบาน

...ลม…หนาวครวญแผ่วมา
แว่ว…พิณเปี๊ยะ ลานนา
มวลบุปผาบ่หอมโรยรา
หมอกเหมยเจ้าเย้ยใจข้า จำต้องลาเพลงพิณ ...


กาญจน์มุนี ศรีวิศาลภพ (ร้อยตะวัน) : เขียน

2552/08/15

อานิสงส์ถวายสัพพทาน



อานิสงส์ถวายสัพพทาน

...... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทานของสัปบุรุษเหล่านี้ ๘ อย่าง คือ

๑. ให้ของที่สะอาด
๒. ให้ของประณีต
๓. ให้ถูกกาล
๔. ให้ของที่สมควร
๕. เลือกให้
๖. ให้เสมอ ๆ
๗. กำลังให้ยังจิตให้เลื่อมใส
๘. ครั้นให้แล้วปลื้มใจ สัปปุริสทาน
๘ อย่างนี้ประเสริฐยิ่งนักหนา

ในกาลครั้งนั้น องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าก็สถิตสำราญอยู่ในป่าเชตวันอันเป็นอารามของนายอนาถปิณฑิกมหาเศรษฐีอยู่ในที่ใกล้ ๆ นครสาวัตถี ในกาลครั้งนั้นมีพระยาองค์หนึ่ง ชื่อ มหานามะ ก็เอา ประธูปประทีปคันธรสของหอม แล้วพาหมู่บริวารทั้งหลายเข้าไปสู่ที่เฝ้าพระสัพพัญญูเจ้า แล้วก็นั่งในที่ควรแห่งหนึ่ง จึงทูลถามพระสัพพัญญูเจ้าว่า “ภนฺเต ภควา” ข้าแต่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าบุคคลผู้ใดเลื่อมใสศรัทธา มาก่อสร้างสัพพาทานหลาย ๆ ชนิด ก็จักมีอานิสงส์ดังรือพระเจ้าข้า “ภควา” อันว่าองค์


... สมเด็จพระศาสดาจารย์เจ้าจึงเทศนาว่า ดูกรมหาบพิตร นรชนหญิงชายทั้งหลายมีใจเลื่อมใสศรัทธามาก่อสร้างสัพพาทานหลาย ๆ ชนิดเป็นต้นว่า

สร้างพระพุทธรูปก็จักได้อานิสงส์ ๙ กัลป
สร้างพระไตรปิฏกธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ได้อานิสงส์ ๑๐ กัลป
ผู้ใดได้บวชตนเป็นสามเณร ก็จักได้อานิสงส์ ๑๒ กัลป
ผู้ไดได้บวชตนเป็นพระภิกษุ ก็จักได้ อานิสงส์ ๒๔ กัลป
ผู้ใดได้สร้างพระธาตุเจดีย์ก็จักได้อานิสงส์ ๘๐ กัลป
ผู้ใดได้ปลูกไม้ศรีมหาโพธิ์ ก็จักได้อานิสงส์ ๙ กัลป
ผู้ใดให้โภชะนังยังข้าวน้ำ โภชนะอาหารให้เป็นทานแก่ภิกษุสามเณร ก็จักได้บริวารแสนหนึ่ง
ผู้ใดได้สร้างเจดีย์ทรายก็จักได้อานิสงส์ ๖๐ กัลป
ผู้ใดสร้างกุฏีให้เป็นทานก็จักได้อานิสงส์ ๔๐ กัลป
ผู้ใดสร้างอุโบสถให้เป็น ทานก็จักได้อานิสงส์ ๔๐ กัลป
ผู้ใดสร้างกฐินให้เป็นทานก็จักได้อานิสงส์ ๘๐ กัลป
ผู้ใดสร้างอารามให้เป็นทานก็จักได้อานิสงส์ ๔๐กัลป
ผู้ใดสร้างพัทธสีมาให้เป็นทานก็จักได้อานิสงส์ ๑๐๐ กัลป
ผู้ใดได้บวชบุรุษผู้อื่นให้เป็นพระภิกษุก็จักได้อานิสงส์ ๘ กัลป
บวชบุตรตนเองให้เป็นภิกษุ ก็จะได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ภรรยาบวชสามีของตนให้เป็นสามเณร ก็จักได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ภรรยาบวชสามีของตนให้เป็นพระภิกษุ ก็จักได้อานิสงส์ ๓๒ กัลป
สามีบวชภรรยาให้เป็นภิกษุณี ก็จักได้อานิสงส์ ๖๔ กัลป
ผู้ใดได้สร้างพระเจดีย์ธาตุข้าวเปลือกให้เป็นทาน ก็จักได้อานิสงส์ ๓๑ กัลป
ผู้ใดสร้างพระเจดีย์ธาตุข้าวสารให้เป็นทานได้อานิสงส์ ๔๒ กัลป
ผู้ใดได้สร้างพระเจดีย์ธาตุเหลือให้เป็นทาน ก็จักได้อานิสงส์ ๖๔ กัลป
ผู้ใดสร้างรั้วล้อมอาราม ได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดปัดกวาดขยะมูลฝอยถอนเสียจากเขตอารามได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดสร้างศาลาสะพานบ่อน้ำให้เป็นทานได้อานิสงส์ ๓๐ กัลป
ผู้ใดได้ถวายดอกไม้ธูปเทียนได้อานิสงส์ ๘ กัลป
ผู้ใดได้สร้างอัฏฐให้เป็นทานได้อานิสงส์ ๓๖ กัลป
ผู้ใดได้ถวายจีวรเถราภิเษก ได้อานิสงส์ ๓๒ กัลป
ผู้ใดถวายผ้าป่าได้อานิสงส์ ๔๐ กัลป
ผู้ใดให้ฝาผนังและเพดานเป็นทานได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดสร้างธงฝ้าย ธงผึ้ง ธงชัย ธงชาย ธงเหล็ก บูชาพระรัตนตรัย ได้อานิสงส์ ๖๔ กัลป
ผู้ใดสร้างขันหมากเบ็งบูชาระรัตนตรัย ได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดถวายซึ่งข้าวพันก้อนบูชาพระรัตนตรัยได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดถวายผ้าอาบน้ำฝน และผ้าจำนำพรรษา ได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดสร้างปราสาทดอกผึ้งให้เป็นทาน ได้อานิสงส์ ๓ กัลป
ผู้ใดสร้างต้นกัลปพฤกษ์ให้เป็นทานได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป์
ผู้ใดสร้าง ฆ้อง กลอง แคน ซอ หอยสังข์ ปี่ แตร แตรวง ดนตรีให้เป็นทานได้อานิสงส์ ๖๐ กัลป
ผู้ใดได้ถวายเสื่อสาดอาสนะได้อานิสงส์ ๔ กัลป
ผู้ใดถวายเตียงเก้าอี้ฟูกเบาะให้เป็นทาน ได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดได้ปลูกกุฏีกรรมให้พระภิกษุเข้าปริวาสกรรม และมานัตตกรรม ได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดได้สร้างบั้งไฟจุดบูชาพระรัตนตรัย ได้อานิสงส์ ๔ กัลป ผู้ได้สร้างพัทธสีมาน้ำได้อานิสงส์ ๖๗ กัลป
ผู้ใดได้สร้างธรรมาสน์ ได้อานิสงส์ ๓๒ กัลป ผู้ใดได้สร้างเวจกุฏี ได้อานิสงส์ ๔๐ กัลป
ผู้ใดได้เผาซากศพที่ตกเรี่ยราดอยู่ตามป่าตามดง ได้บริวารหมื่นหนึ่ง
ผู้ใดได้เผาศพญาติมิตรสหาย ได้บริวาร ๓ หมื่น
ผู้ใดได้เผาศพบิดามารดาได้บริวารหนึ่งแสน
ผู้ใดได้เผาศพอุปัชฌาย์อาจารย์ ได้บริวารโกฏิหนึ่ง
ผู้ใดได้ถวายโอ่งน้ำ และส้วมอาบน้ำ และครุตักน้ำก็ได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป




สัพพทานทั้งหลายชนิดเหล่านี้บุคคลผู้ใดมีศรัทธากล้าหาญอาจสละสมบัติออกสร้างวัตถุประสงค์ ดังแสดงมานี้ ก็มีอานิสงส์ผลบุญพูนสุขในชั่วนี้และชั่วหน้า อานิสงส์ที่ได้ปัจจุบันนี้คือ จะไปมาทางใดก็มีคนนับหน้าถือตาไม่ได้เป็นที่รังเกียจของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีแต่ผู้อยากให้ร่วมกินร่วมอยู่ทั้งนั้น เราจะเข้าไปสู่สมาคมใด ๆ ก็ไม่ครั้นคร้ามสยดสยองเกรงกลัวต่ออำนาจผู้ใด การทำมาหากินก็สมความมุ่งมาตรปรารถนาสมประสงค์ ครั้นสิ้นบุพพกรรมมนุษย์ในโลกนี้แล้ว ก็จะถือเอาตนเมื่ออุบัติขึ้นบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสายามาตุสิตาโดยลำดับ จนถึงพรหมโลก ครั้นจุติจากพรหมโลกลงมาเกิดในมนุษย์โลก ก็ไม่ได้ไปเกิดในหิเนกุลชั่วร้าย และจักได้ไปเกิดในตระกูลท้าวพระยามหากษัตริย์ หรือตระกูลพราหมณ์ผู้มั่งครั่งมั่งมีเศรษฐีกฎุมพีแล้วก็จักได้ทัวระวัดไปมาบารมีแก่กล้า ก็จะได้บ่ายหน้าเข้าสู่เมืองแก้วนิรพาน พอจบธรรมเทศนาแห่งองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าลง สมเด็จพระเจ้ามหานามะ ก็ได้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมณ์สามส่วนบริษัททั้งหลาย ก็ได้ถึงโสดาสกิทาคา อนาคา อรหันต์

ที่มา : http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=1577&sid=b1c6f4cae0d8b02d9b8e796c252dc6bd