2550/08/10

คุณธรรม..จาก..รวงข้าว


คุณธรรม..จาก..รวงข้าว

...ข้าว..จากหญ้าป่าสายพันธุ์หนึ่งที่ไร้คุณค่า...
ปัจจุบันกลายเป็นอาหารหลักของมวลมนุษยชาติ
ยามเมื่อต้นข้าวออกรวง...ล้วนนำมาซึ่งความปีติยินดี
...ให้แก่ชาวนาผู้ปลูกข้าวเป็นยิ่งนัก...
โบราณเคยเปรียบเปรยถึงคุณธรรมความดี
...ของบุคคลที่ยิ่งใหญ่ไว้ว่า...
"...ยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว...
หากแม้ใครอยากเป็นที่ชื่นชมของเหล่าชนทั้งหลาย
ขอจงปฏิบัติตนให้เป็นดั่งเช่น “...รวงข้าว..."
รวงข้าวยิ่งแก่ยิ่งสุกงอมสมบูรณ์มากเท่าใด
ก็ยิ่งน้อมรวงลงต่ำ...เรี่ยรวงโน้มลงสู่พื้นดิน...
มิได้พุ่งปลายรวงขึ้นสู่ฟ้า...เพราะด้วยต้นข้าว...
เป็นพืชพันธุ์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม...ต้นหญ้า...
อันต่ำต้อยกลางป่าเช่นเดียวกันกับพืชร่วมสายพันธุ์ต่างชนิด
ดังนั้น...ผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้..
มิใช่เพียงผู้ดำรงไว้ซึ่งอำนาจหรือทรัพย์ศฤงคารเท่านั้น
หากแต่ยังต้อง...รู้ซึ้งถึงฐานะที่แท้จริงของตน...
ไม่ลืมตัว…เหมือนวัวลืมตีน…
ไม่ลืมฐานะดั้งเดิมที่ตนเคยอยู่...เคยเป็น..
ดั่งเช่น…คางคกขึ้นวอ….
จงปฏิบัติตนให้เป็นดั่งเช่น...รวงข้าว...
ท่านจึงสามารถ...ครองใจมวลชนทั้งหลายได้...
นั่นคือ...บุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง...




หลังเทศกาลออกพรรษา มีเทศน์มหาชาติแล้ว น้ำเจิ่งท้องทุ่ง ข้าวออกรวงอ่อน ลำต้นป่องกลาง เรียกว่า ข้าวกลัดหางปลาทู อุปมาเหมือนผู้หญิงตั้งท้องอ่อนๆ อยู่ในช่วงแพ้ท้อง ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงจะพายเรือไปรับขวัญข้าว หรือไปเยี่ยมแม่โพสพ เมื่อถึงกอข้าวที่ขึ้นงามที่สุดก็จะปักหลัก 1 หลัก นำชะลอมบรรจุหมาก พลูจีบ สีผึ้งป้ายใส่ใบตอง กระจก หวี แป้ง น้ำอบ กล้วย ส้ม อ้อยควั่น ให้แม่โพสพ โดยหวีใบข้าว พรมน้ำอบ พูดด้วยถ้อยคำไพเราะดังนี้

“…แม่โพสี แม่โพสพ แม่นพดารา ไปอยู่ที่ต้นไร่ปลายนา ขอเชิญแม่มารับอ้อยกับส้ม ผูกชะลอมไว้กับหลัก ใช้ด้ายสามสี แดง ขาว เหลืองผูกคอชะลอม ที่ยอดหลักปักเฉลวสานจากไม้ไผ่มีธงชายสามสีที่ได้มาจากงานมหาชาติผูกติดเป็นเครื่องป้องกันอันตรายที่จะมาทำลายต้นข้าว การเอาอกเอาใจข้าวเปรียบเหมือนการเอาใจผู้หญิงท้อง หาของแต่งตัว ของเปรี้ยวๆ มาให้...”

หลังจากฤดูออกพรรษา ชาวนาก็จะฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวข้าวและหลังจากการเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้ว ชาวนามักจะมี…พิธีการทำขวัญข้าว…ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีในการระลึกถึงคุณของแม่โพสพด้วย โดยการนำข้าวไปกองที่ลานเพื่อนวดข้าวแล้วจะมีพิธีเชิญขวัญข้าวสู่ลาน เอาซังต้นข้าวผูกเป็นหุ่นแม่โพสพและทำพิธีเซ่นสังเวยเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์จงมีต่อผลผลิตตลอดไป

พิธีกรรมการทำขวัญข้าวนี้ นับเป็นประเพณีไทยโบราณของคนในสังคมเกษตรกรรมที่แสดงออกถึงความอ่อนโยน ความเคารพ ความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณ ด้วยการไหว้แม่พระโพสพ นอกจากนี้ประเพณีการทำขวัญข้าวยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยในเชิงจิตวิทยาสังคมได้ว่า …ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังต้องพึ่งพาธรรมชาติ และรู้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ก็ควรอ่อนน้อมให้กับธรรมชาติและเอาใจใส่กับทุกสิ่งที่อยู่รอบข้าง เพราะทุกสิ่งในโลกย่อมต้องพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน… อีกทั้งยังให้ข้อคิดสำหรับการดำรงตนให้อยู่อย่างมีความสุขในชีวิตได้เป็นอย่างดี เพราะทุกท่านล้วนอยู่ในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม ยังต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันตลอดเวลา จึงควรรู้จัก การอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักการให้ ไม่ยิ่งทะนงยโสโอหังต่อผู้อื่น หรือหลงตนองว่าเหนือกว่าเก่งกว่าผู้อื่น เพราะความคิดเช่นนี้จักนำพาความพินาศล้มเหลวมาสู่ตนเอง…ดั่งเช่นคำของพระพุทธองค์ได้กล่าวถึงคุณแห่งการอ่อนน้อมถ่อมตนไว้ว่า…


“…เย วุฑฺฒมปจายนฺติ
นรา ธมฺมสฺส โกวิทา
ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ ปาสํสา
สมฺปราโย จ สุคฺคติ…”

…นรชนผู้ฉลาดรู้ธรรมเนียม
นอบน้อมถ่อมตนต่อผู้หลักผู้ใหญ่
ในกาลปัจจุบัน ย่อมควรต่อการสรรเสริญ
และกาลข้างหน้า ก็ไปได้ดี…

( ติตติรชาดก ขุ. ชา. ๒๗ / ๓๗ )

เขียนโดย...กาญจน์มุนี ศรีวิศาลภพ (ร้อยตะวัน)...
*****************************************************************************